กระทรวงคมนาคมประชุมคณะทำงานบูรณาการการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ครั้งที่ 2/2565
ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบการให้บริการอำนวยความสะดวกประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าและออกประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานหลัก ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้ตั้งคณะทำงานบูรณาการการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเร่งแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสารในพื้นที่ท่าอากาศยานตามนโยบายรัฐบาล
กระทรวงคมนาคม จึงได้ประชุมคณะทำงานบูรณาการการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการ โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และผู้แทนกรมการขนส่งทางบก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 กรมศุลกากร กรมการกงศุล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมคมนาคม กระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ปัญหาความแออัดของผู้โดยสาร ในระยะเร่งด่วน เพื่อความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
1. ความคับคั่งบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า ทสภ. ทสภ. ดำเนินการแก้ไขโดยจัดระเบียบการต่อแถวเป็นรูปแบบ Snake Line เพื่อให้มีความเป็นระเบียบยิ่งขึ้น และติดป้ายแจ้งระยะเวลารอรับบริการให้ผู้โดยสารทราบ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและตรวจเอกสารการเดินทาง นอกจากนี้ ได้บูรณาการร่วมกับกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเต็มทุกเคาน์เตอร์ในช่วงชั่วโมงที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก ซึ่งทำให้สามารถระบายผู้โดยสารได้ทั้งหมดภายในระยะเวลา 30 นาที โดยผู้โดยสารใช้เวลาต่อคิวรอตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน
2. ความคับคั่งของผู้โดยสารบริเวณโถงสายพานรับกระเป๋าขาเข้า ณ ทสภ. ทอท. ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัทผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น โดยตรวจสอบเวลาลำเลียงสัมภาระใบแรกของแต่ละเที่ยวบิน กรณีที่พบว่า มีการลำเลียงสัมภาระล่าช้าเกินกว่า 15 นาที จะแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการดูแลผู้โดยสารบริเวณสายพานและแจ้งผู้ให้บริการภาคพื้นที่เร่งดำเนินการให้เร็วขึ้นปัจจุบัน ทสภ. สายพานรับกระเป๋าขาเข้าภายในประเทศ 4 สายพาน ขาเข้าระหว่างประเทศ 18 สายพาน และรถเข็นกระเป๋าสัมภาระ จำนวน 11,100 คัน3. ความคับคั่งบริเวณจุดรอรถแท็กซี่ ทสภ. ได้ดำเนินการขยายพื้นที่รอคอยกดตั๋วแท็กซี่ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการเพิ่มการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ
4. ความหนาแน่นของรถยนต์บริเวณชานชานชาลา อาคารผู้โดยสาร ทดม. ดำเนินการในระยะเร่งด่วน โดยตรวจสอบสภาพการจราจรผ่านทางกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของศูนย์รักษาความปลอดภัย เพื่อบริหารจัดการการจราจรได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดให้มี Passenger and Taxi Drop Lane เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณชานชาลาขาออก ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินเข้าสู่ทางเชื่อมมายังภายในอาคารผู้โดยสารได้ทันที สำหรับในช่วงเวลาเร่งด่วน ทดม. จัดเจ้าหน้าที่บริหารจัดการการจราจรรถแท็กซี่ให้ใช้เส้นทาง TAXI DROP LANE อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันสามารถระบายการจราจรบริเวณชานชาลาขาออกให้มีความคล่องตัวขึ้น
5. ความหนาแน่นบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน ในระยะเร่งด่วน ทดม. ได้นำระบบ Real Time Passenger Tracking Monitor มาใช้ตรวจสอบความหนาแน่นผู้โดยสารตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้ทราบความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารที่รอคิว หากพบว่ามีผู้โดยสารรอคิวใช้บริการจำนวนมาก ทดม. จะแจ้งให้สายการบินทราบ เพื่อจัดเจ้าหน้าที่และเพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์เช็กอินให้เหมาะสมกับปริมาณผู้โดยสาร โดยมีหน้าจอแสดง เวลา และสถานะคิวเพื่อให้ผู้โดยได้ตัดสินใจในการใช้บริการ สำหรับแผนระยะกลาง ทดม. ได้ติดตั้งระบบเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service หรือ CUSS) และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag-Drop: CUBD) เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วและลดระยะเวลาการรอคิวเข้าเช็กอิน ซึ่งจะสามารถให้บริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566
6. ความหนาแน่นบริเวณจุดตรวจค้น ในระยะเร่งด่วน ทดม. ได้นำระบบ Real Time Passenger Tracking Monitor มาใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งหากพบว่ามีความหนาแน่นของผู้โดยสารจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ ทดม. จะเร่งจัดระเบียบคิวให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสาร รวมทั้งมีหน้าจอแสดงเวลาการรอคิวให้ผู้โดยสารทราบ สำหรับแผนระยะกลาง ทดม. เตรียมเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจค้นในการให้บริการ เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
7. จุดตรวจหนังสือเดินทาง ทดม. มีแผนระยะกลางเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคตโดยประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มเจ้าหน้าที่ประจำเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางจาก 22 เคาน์เตอร์ เป็น 30 เคาน์เตอร์
ทั้งนี้ ทอท. มีแผนระยะยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาความคับคั่ง ทสภ. โดยเพิ่มพื้นที่จุดตรวจหนังสือเดินทางขาเข้า ที่อาคารผู้โดยสารหลัก และเพิ่มพื้นที่กระบวนการ Visa on Arrival (VOA) ที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางบริเวณอาคารผู้โดยสารหลัก ติดตั้งระบบไบโอเม็ททริคล่วงหน้าบนตู้คีออส (Self-Service Pre-Registration Kiosk) เพื่อให้ผู้โดยสารทำการ Pre-Immigration ก่อนถึงจุดตรวจหนังสือเดินทาง และดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ด้านทิศตะวันตก (West Expansion) และด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 60 ล้านคนต่อปี สำหรับ ทดม. มีโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี
ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายในการดำเนินการตามแนวทางการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศ และมีแผนระยะกลางและระยะยั่งยืน เพื่อสามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาได้ทั้งระบบและมีขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน