คณะผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์แห่งปัญญา คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมในช่วงกลางปี 2567
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วิชาญ โชคธนะศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุธิดา สัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี เปิดงานเยี่ยมชมความก้าวหน้าโครงการ พิพิธภัณฑ์แห่งปัญญา ณ อาคารศาลาประชาคม สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดสมุทรปราการ
โดยได้รับเกียรติจาก ผู้สนับสนุนโครงการ จากมูลนิธิสุขุโม คุณสุขุมา ชยานนท์ คุณโสฬส สุวรรณเนตร์ และ ผู้ร่วมออกแบบประติมากรรมและวางแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ คุณศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2560 โดยพิพิธภัณฑ์แห่งปัญญา
ส่วนที่ 1 “องค์จักรีนฤบดินทร์บันดาลใจ” จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีการจัดพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายนอกและภายในอาคารชั้นที่ 1 และ 2 รวม 9 โซน ประกอบด้วย
โซนที่ 1 : มรรคาแห่งปัญญา บริเวณทางเข้าด้านหน้า ออกแบบโดยจำลองซุ้มประตูวิเศษไชยศรี จากพระบรมมหาราชวัง และซุ้มม่านแก้ว งานสถาปัตยกรรมโครงสร้างที่เลียนแบบมาจากเส้นสินเทาในงานจิตรกรรมไทย โดยนำลายผ้าไทยทั้ง 4 ภาค มาออกแบบเป็นลวดลายบนกระจก
โซนที่ 2 : จุติองค์ภูมินทร์ พระมิ่งฟ้าองค์ราชัน จัดแสดงชิ้นงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า “จุติ”
โซนที่ 3 : ใต้ร่มพระบารมีองค์จักรีนฤบดินทร์ จัดแสดงพระราชประวัติ การทรงงาน และคุณปูการแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
โซนที่ 4 : ความเพียรอันบริสุทธิ์ จัดแสดงชิ้นงานประติมากรรมที่มีชื่อว่า “ความเพียรอันบริสุทธิ์” ซึ่งเป็นการอุปมาความเพียรของพระมหาชนก ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
โซนที่ 5 : ไตรลักษณ์ สัจจะแห่งชีวิต กล่าวคือ หลักธรรมของสรรพสิ่งทั้งปวงอัน ได้แก่ อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความทนอยู่ไม่ได้) อนัตตา (ความไม่มีตัวตน) ผ่านงานประติมากรรมของรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ตลอดจนพระชนมชีพ โดยได้รับเกียรติจากประติมากร 9 ท่าน มาร่วมสรรค์สร้างประติมากรรม
โซนที่ 6 : พระอัจฉริยภาพองค์ราชัน…ผู้ทรงธรรมแห่งแผ่นดิน นำเสนอความเป็นปราชญ์และเอตทัคคะทั้งศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ตลอดจนความเป็นครูแห่งแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ของกษัตริย์นักคิดและนักพัฒนา ผ่านภาพจิตกรรมลายรดน้ำ และงานประติมากรรม “ทรงพระผนวช” แกะสลักด้วยหินอ่อน
โซนที่ 7 : จาก “รามาธิบดี” สู่ “จักรีนฤบดินทร์” จัดแสดงงานภาพเขียนลายเส้น เรื่องราวประวัติคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2508 จนถึงปัจจุบันที่มีโครงการ “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์”
โซนที่ 8 : อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ จัดแสดงประติมากรรม “อนุสาวรีย์แห่งความทรงจำ” โดย ศ.เกียรติคุณเข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ และโซนที่ 9 : ร้านขายของที่ระลึก
สำหรับส่วนที่ 2 “นิทรรศการหมุนเวียน” เพื่อให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปด้านสุขภาพ โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการกำหนดรูปแบบและรอดำเนินการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์แห่งปัญญา ตั้งอยู่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการก่อสร้างเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมในช่วงกลางปี พุทธศักราช 2567