26 องค์กรภาคีเครือข่าย รวมพลังเดินหน้าประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต”
ปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และเมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การดูแลสุขภาพองค์รวมจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ สิ่งที่น่าสนใจคือ สุขภาพช่องปากและจำนวนฟันที่คงเหลือมีความเชื่อมโยงกับการเกิดโรคและความพิการในผู้สูงอายุ
ด้วยเหตุนี้ 26 องค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย องค์กรภาคีวิชาชีพด้านทันตกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรภาคีภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้รวมพลังกันประกาศเจตนารมณ์การรณรงค์ ผ่านเวทีขับเคลื่อนนโยบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” เพื่อให้กลุ่มผู้สูงอายุในวัย 80 ปี ดูแลรักษาฟันไว้ให้ได้ 20 ซี่ขึ้นไป นอกจากนี้ในเวทีดังกล่าว ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับแนวทางในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย80/20 เกิดขึ้นในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
“องค์กรภาคีเครือข่าย จะร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพช่องปากในทุกกลุ่มวัย ให้มีความรอบรู้และเห็นความสําคัญที่จะดูแลรักษาฟันให้มีสุขภาพดี ลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประกันสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการทันตกรรม พื้นฐานที่จําเป็น เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการสุขภาพช่องปากของตนเอง ผลักดันให้การตรวจสุขภาพช่องปากเชิงป้องกัน เป็นส่วนหนึ่ง ในแผนการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อไม่เรื้อรังในอนาคต” ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสภาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวเริ่มต้นการประกาศเจตนารมณ์
“การกำหนดนโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่ สะท้อนวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการดูแลสุขภาพฟันของประชาชนทุกช่วงวัย และยังคงมีอีกหลายส่วนที่ต้องขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริการหรือการเข้าถึงสิทธิ์ของประชาชน ในส่วนของทันตแพทย์สภา ขอร่วมสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้นโยบายดังกล่าวบรรลุวัตถุประสงค์และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือการดูแลให้ประชาชนมีสุขภาพฟันที่ดี” พ.ต.ท.พจนารถ พุ่มปรกอบศรี นายกทันตแพทย์สภา กล่าวในฐานะผู้แทนภาคีวิชาชีพ
“เราจะสนับสนุนให้ทันตบุคลากร ประกอบด้วย ทันแพทย์ ทันตภิบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ มีความรู้ มีทักษะ และร่วมกันพัฒนาระบบบริการให้ครอบคลุม ทั้งเรื่องการรักษาและป้องกันสุขภาพช่องปาก รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการเพื่อเอื้อต่อผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงบริการทันตกรรมได้อย่างสะดวก เชื่อมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพช่องปากและสุขภาพกายที่แข็งแรง เป็นบุคคลกรที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไป” ทพญ.ภารณี ชวาลวุฒิ สมาพันธ์ทันตแพทย์กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะผู้แทนภาคีภาครัฐ
“เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนโยบาย 80 ปี ฟันดี 20 ซี่ ด้วยกัน ในฐานะกลุ่มประชาชนขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้สิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่สมบูรณ์แข็งแรง มีคุณภาพที่ชีวิตที่ดีในทุกช่วงวัย” นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวในฐานะผู้แทนภาคีประชาสังคม
“บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 80/20 ซึ่งบริษัทฯจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนหลักสูตรการบริหารช่องปาก Kenkobi ซึ่งเป็นการบริหารกล้ามเนื้อการเคี้ยว การกลืน การกระตุ้นต่อมน้ำลาย โดยให้ความรู้ขยายไปยังชุมชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรงสีฟัน ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก แบรนด์ GoodAge สำหรับผู้สูงวัย เพื่อบรรลุเป้าหมายผู้สูงอายุ 80 ปี มีฟัน 20 ซี่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” นายกัณฑชิต ศรัณย์บัณฑิต ผู้จัดการส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ HBA CATEGORY บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในฐานะผู้แทนภาคีเอกชน
ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสภาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า “การขับเคลื่อนนโนบาย “80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” จะเป็นเข็มมุ่งหรือเป้าหมายสำคัญที่องค์กรภาคีเครือข่ายได้บูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มอายุเข้าถึงบริการทันตกรรมเชิงป้องกันและรักษา ที่ครอบคลุมและเกิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในด้านสุขภาพ อันจะนำไปสู่เป้าหมายให้คนไทยมีอายุขัยยืนยาวที่มีสุขภาพดี”
สำหรับข้อเสนอมาตรการในนโยบาย “80 ปีฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต” หรือ 80/20 มี 7 มาตรการ ด้วยกัน ได้แก่ มาตรการที่ 1 การรณรงค์แคมเปญ 80/20 ในระดับประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน มาตรการที่ 2 สร้างให้ประชาชนรับรู้และตระหนักถึงความสําคัญของการดูแลสุขภาพช่องปาก และได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากอย่างครอบคลุม มาตรการที่ 3 เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพช่องปากเชิงป้องกันและการรักษาทางทันตกรรมให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน มาตรการที่ 4 บูรณาการด้านบริการทางทันตกรรมด้วยระบบการส่งต่อบริการแบบไร้รอยต่อ เพื่อลดช่องว่างและลดค่าใช้จ่ายด้านการบริการทันตกรรม มาตรการที่ 5 สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้บริการครอบคลุม ลดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแลด้านทันตกรรมให้กับประชาชน มาตรการที่ 6 เป็นพันธมิตรกับทีมดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคทางช่องปากเกี่ยวพันกับ NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อให้การส่งเสริมและป้องกันโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมาตรการที่ 7 ศึกษาวิจัยนวัตกรรมเพื่อพัฒนานโยบาย 80/20 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต