วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น” วันสหกรณ์แห่งชาติ “ ตรงกับ สืบเนื่องมาจากประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2458 นโยบายรัฐในขณะนั้น เห็นสมควรนำวิธีการสหกรณ์ เข้ามาช่วยพัฒนาประเทศให้ประชาชนได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะคนที่เป็นเกษตรกร
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ได้ทรงส่งเสริมให้ก่อตั้งสหกรณ์แห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ณ ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และทรงเป็นนายทะเบียนสหกรณ์(พระองค์แรก) รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แห่งแรก เมื่อวันที่ 26 ก.พ. พ.ศ. 2459 ตามรูปแบบสหกรณ์ เครดิตแบบไรฟ์ไฟเซน ที่ได้รับความสำเร็จ มาแล้วใน อินเดีย และพม่า ซึ่งทั้งสองประเทศได้ส่งคนไปศึกษาจากประเทศเยอรมนี และเมื่อวันที่ 9 ต.ค. พ.ศ. 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ
ใน จ.สมุทรปราการเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ จิรธานันท์ สหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ นายพรศักดิ์ คุณวุฒิมโนธรรม ประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ จังหวัดสมุทรปราการพร้อมด้วยผู้แทนสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพ ร่วมกันวางพานพุ่มดอกไม้สดสักการะพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์“พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุมสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ
นายพรศักดิ์ คุณวุฒิมโนธรรม ประธานคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่านับแต่สหกรณ์แห่งแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2459 จนปัจจุบันนี้มีครบ 106 ปี การสหกรณ์ไทยได้พัฒนาและก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ปัจจุบันมีสหกรณ์ในจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมด 6 ประเภท 159 สหกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการ สหกรณ์เคหสถาน(บ้านมั่นคง) มีกลุ่มเกษตรกร 2 กลุ่มและกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์ 94 กลุ่ม ซึ่งกระจายอยู่ในทุกอำเภอ มีสมาชิกมากกว่า 91,400 คน มีทุนเรือนหุ้นรวมกันประมาณ 17,517 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจหมุนเวียนในรอบปี 18,480 ล้านบาท ทุนดำเนินงานรวม 29,829 ล้านบาทโดยสหกรณ์ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มวลสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
“ ในการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติจังหวัดสมุทรปราการปี 2565 นี้กระบวนการสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์ในจังหวัดสมุทรปราการและสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆประกอบด้วยพิธีทางศาสนาการทำบุญอาหารเพล พร้อมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์ พิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดสักการะพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย การประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ของสันนิบาตสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการและการชี้แจงแนวทาง การส่งเสริมสหกรณ์ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสมุทรปราการ ”…..นายพรศักดิ์ กล่าว
สำหรับ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารัชนี แจ่มจรัส เป็นโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และจอมมารดาเลี่ยม ประสูติเมื่อวันพุธที่ 10 ม.ค. 2419 ขณะทรงมีพระชันษา 5 ขวบ ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านภาษา โดยใฝ่พระทัยค้นหาหนังสือขอม ร้อยแก้วเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สามก๊ก และเรื่องจีนอื่นๆ มาอ่าน ขณะเดียวกันได้ทรงโปรดอ่านโคลงกลอน จนสามารถแต่งกลอนได้ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ขณะทรงดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดี กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ทรงเล็งเห็นว่า การช่วยกู้ฐานะชาวนา ให้พ้นจากภาวะหนี้สินพอกพูนได้นั้น ก็คือ การจัดตั้งสหกรณ์ ทรงส่งเสริมให้มีการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรกคือ สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2459 ทรงดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก และทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์สหกรณ์ การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนเป็นที่แพร่หลายทั่วราชอาณาจัก ทรงผลักดัน ส่งเสริม ให้มีการกำหนดระเบียบ ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ คอยควบคุมการตรวจสอบบัญชี การรับส่งเงิน และแนะนำวิธีการดำเนินงานสหกรณ์ รวมทั้งพัฒนางานสหกรณ์จนมีการตั้งสหกรณ์อื่น ๆ แพร่หลายไปทั่วประเทศ จนได้รับการยกย่องให้เป็น”พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”
ด้วยมีพระปรีชาสามารถ ที่ทรงมีคุณูปการต่อระบบสหกรณ์ในประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์พ้นจากภาวะหนี้สิน มีทุนในการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่พอมีพอกิน ก่อให้เกิดผลดีในการพัฒนาประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ ที่ควรค่าต่อการน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน เนื่องในโอกาสวันสหกรณ์แห่งชาติ ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ครบรอบ 106 ปีการสหกรณ์ไทย