เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 23 กันยายน 2563 ทนาย เกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้พานายสุเมธ จันสุตะ อายุ 53 ปี และ นางสาว กีรตยา กำลังมาก อายุ 46 ปี สองผู้เสียหาย เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.เติมรัศมิ์ จินดาวัฒน์ ผกก.สภ.เมือง สมุทรปราการ ให้สอบสวนดำเนินคดีกับนายศตพล จันทร์ณรงค์ นายกสมาคมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ( ETA ) และเป็นเจ้าของ บริษัท บี.ซี. แวร์เฮาส์ จำกัด หลังจากที่ได้หลอกลวงให้ประชาชนมาร่วมลงทุนในการซื้อเหรียญสกุลดิจิทัล ที่ใช้ชื่อ อีทีเอ คอยน์ ที่นายศตพล เป็นผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้คิดดำเนินการออกเหรียญ อีทีเอ คอยน์ ในฐาน ฉ้อโกงประชาชน หลังหลอกให้ร่วมทุนซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล อีทีเอ คอยน์ มีผู้เสียหายนับร้อยคน มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
นายสุเมธ หนึ่งในผู้เสียหาย ได้กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2561 คณะผู้บริหารของสมาคมดังกล่าว ได้ออกเหรียญสกุลเงินดิจิทัล ชื่อสกุล “อีทีเอ คอยน์” และได้ชักชวนให้นักลงทุน นักธุรกิจ ข้าราชการ และคนจากหลากหลายวงการ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มาร่วมลงทุนเงินดิจิทัล สัญชาติไทยที่ตั้งขึ้นมา โดยอ้างว่าสามารถนำไปใช้จ่ายได้ในประเทศไทยเหมือนเงินทั่วไป และในอนาคตจะโกอินเตอร์ สามารถซื้อขายในตลาดเงินดิจิทัลในเวทีโลกได้ และสามารถทำกำไรได้ในอนาคต ซึ่งขณะนั้นนายกสมาคมคนดังกล่าว มีตำแหน่งเป็นถึงที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแห่งหนึ่ง และเคยจัดทำโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์ จนมีชื่อเสียง ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ตนและผู้เสียหายรายอื่น ๆ อีกกว่า 100 ราย หลงเชื่อนำเงินไปร่วมลงทุนรวมมูลค่าหลายสิบล้านบาท ก่อนที่จะมาทราบว่าเงินดิจิตอลสกุลดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้จ่ายได้หรือนำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ ได้ ทำให้เชื่อว่าน่าจะเป็นการหลอกลวง จึงรวมตัวกันมาแจ้งความในวันนี้
ขณะที่ในส่วนของนายศตพล เองนั้น ทราบว่าขณะนี้ได้ถูกปลดออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว เนื่องจากที่การนำตำแหน่งไปแอบอ้างหลอกลวง ด้านทนาย เกรียงศักดิ์ ได้กล่าวว่า ตามที่ตนได้ดูในรายละเอียดแล้วพบว่าเหรียญสกุลดังกล่าวไม่มีอยู่จริง และนำไปทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ ตามที่ตกลงสัญญากันไว้ และมีผู้เสียหายหลายคนติดต่อขอขายคืนก็ไม่ได้ โดยที่ทางสมาคมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว ( ETA ) ก็เป็นสมาคมที่นายศตพล เป็นนายกและเป็นกรรมการบริษัทอีกบริษัทหนึ่ง เพื่อโอนเหรียญเข้ามา แต่เวลาโอนกลับให้ผู้เสียหายโอนเงินให้กับนายศตพล เท่ากับว่านายกและบริษัทและเงินเหรียญสกุลดังกล่าวมีนายศตพล เป็นคนคุมอยู่ ผลประโยชน์ทั้งหมดโอนเข้าที่นายศตพล พอผู้เสียหายทวงถามแต่กลับได้รับคำตอบว่าให้ไปซื้อขายกันเองในกระดานซื้อขายระหว่างประเทศ หรือให้เอาไปขายต่อให้คนอื่น
หลังจากที่ตนรับเรื่องมามีผู้เสียหายเข้ามาร้องทุกข์ประมาณ 10 กว่าคน มูลค่าความเสียหายประมาณ 3 ล้านบาท และยังมีผู้เสียหายรายอื่น ๆ อีกหลายสิบคนรวมมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งในพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการฉ้อโกงประชาชน เพราะมีการโฆษณาออกสื่อมีเว็บไซต์หลอกให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมลงทุนทำให้เกิดความเสียหาย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสอบปากคำผู้เสียหาย เพื่อรวบรวมหลักฐานและติดตามผู้เกี่ยวข้องมาทำการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป