การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ฝุ่นละออง และมลภาวะต่างๆ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดผื่นผิวหนัง พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุก่อน 1 ปี หากไม่รีบทำการรักษาและดูแลให้ถูกวิธีตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเรื้อรังจนถึงตอนโตได้ ดังนั้นการพบแพทย์โดยเร็ว นอกจากช่วยรักษาให้หายขาดแล้ว ยังช่วยให้ตัวเด็กเองพร้อมเรียนรู้ในทุกช่วงวัย
พญ.ลิลรฎา อนันตรัมพร กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างผิวหนัง ทำให้ผิวหนังสูญเสียน้ำ เมื่อสูญเสียน้ำเยอะแล้วผิวจะแห้งและอักเสบได้ง่าย อาการมีตั้งแต่ระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน และเรื้อรัง ซึ่งในเด็กแต่ละช่วงอายุจะมีอาการแตกต่างกัน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี มักพบบริเวณแก้ม หน้าผาก คอ แขนและขาด้านนอก ข้อมือและข้อเท้า ในเด็กโต มักพบบริเวณข้อพับ แขน ขา เท้า ข้อเท้า หากผู้ป่วยมีอาการแรกเริ่มของโรคนี้ตอนโต มักจะหายยากกว่าผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่ตอนเด็ก
สังเกตอาการที่บ่งบอกว่าอาจกำลังเป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง ได้แก่ 1) มีผื่นแดง มีอาการคัน 2) ผื่นขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย ตามช่วงอายุ เช่น ผื่นมักเกิดบริเวณแก้ม หน้าผาก คอ แขนและขาด้านนอก ข้อมือ ข้อเท้าในทารก และผื่นมักเกิดตามข้อพับในเด็กโตและผู้ใหญ่ 3) ผิวหนังอักเสบเรื้อรังเป็นแล้วหายบ่อย ๆ 4) มีประวัติคนในครอบครัวสายตรงเป็นภูมิแพ้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้มากขึ้น เช่น จมูกอับเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) ภูมิแพ้ผิวหนัง และหอบหืด หากอาการไม่ครบทั้งหมด แต่มีอาการคัน มีผื่น อาการดังที่กล่าวใน 4 ข้อข้างต้น ร่วมกับ อาการร่วมเช่น รอบปากซีด ใต้ตาคล้ำ ขนคุด มีลักษณะคล้ายหนังไก่ ผิวหนังไม่เรียบ ผิวแห้งหรือลักษณะเป็นขุย ผิวแตกหน้าหนาว อาจเป็นบางบริเวณหรือเป็นทั่วร่างกาย อาการเหล่านี้คืออาการร่วมที่สามารถบ่งบอกว่าเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้เช่นกัน เมื่อสังเกตอาการและเจอข้อบ่งชี้ดังกล่าวควรพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็ว โดยแพทย์จะทำการพิจารณาลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นตามบริเวณต่างๆ และซักประวัติโดยละเอียด เพื่อทำการแยกโรคและหาวิธีรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากโรคผิวหนังในเด็กมีหลากหลาย อาทิ ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันหรือเซ็บเดิร์ม โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ โรคผื่นแพ้ผิวหนังในเด็กยังมีโอกาสเกิดการแพ้จากอาหารได้เช่นกัน โดยมักพบอาการร่วมกับระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น อาการหายใจติดขัด หรือถ่ายอุจจาระปนเลือด กรณีนี้แพทย์อาจทำการซักถามเพิ่มเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน เพื่อหาสาเหตุและรักษาตามอาการต่อไป
อย่างไรก็ตาม การหมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติคือสิ่งสำคัญที่สุด หากเด็กมีผื่นคันที่เป็นแล้วหายบ่อยๆ ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และดูแลผิวของเด็กๆ อย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ จะได้หายจากโรคโดยเร็วที่สุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.02-310-3006 02-755-1006 หรือโทร.1719 แอดไลน์ @bangkokhospital