ที่ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ บางนา จังหวัดสมุทรปราการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียน การประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาท่องเที่ยวไทย พอดี มีสุข” ภายใต้กิจกรรมการศึกษาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) และพัฒนาระบบบริหารจัดการสู่การเป็นต้นแบบระบบนิเวศการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมี นายอนันต์ ชูโชติ ประธานกรรมการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นประธานเปิดงานสัมมนา
พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ อพท. นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท.นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 1 โดยได้รับเกียรติจาก นายชัยพจน์ จรูญพงศ์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา และมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “พลิกโฉมการท่องเที่ยวไทยที่..พอดี มีสุข สู่เมืองน่าอยู่น่าเที่ยว” โดย นายอนันต์ ชูโชติ ประธาน พพท. และการเสวนา เรื่อง “การขับเคลื่อนการท่องเที่ยว
คุ้งบางกะเจ้า แบบพอดี มีสุข สู่เมืองน่าอยู่น่าเที่ยว” โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.นายชัยพจน์ จรูญพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้แทนจากพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า ทั้ง 6 ตำบล ได้แก่ 1) นายวัชระ เติมวรรธนภัทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทรงคนอง 2) นายสมศักดิ์ พรหมศาสตร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางยอ 3) นางบุญญาภา ศิโรดม ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางกระสอบ 4) คุณทับทิม จันทร์ไพศรี ผู้แทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางกะเจ้า 5)อาจารย์สมศักดิ์ สำลีรัตน์ ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางน้ำผึ้ง และ 6) นายจิตร มะลิรัตน์ รองประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลบางบางกอบัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านการประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) มุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และรวบรวมข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ไปใช้ประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับผลการประเมินขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของพื้นที่เป้าหมาย ในการต่อยอดหาแนวทางพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต่อไป