การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เป็นการวางแผนก่อนใช้ชีวิตครอบครัวที่จะทำให้ทราบว่าสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่พร้อมแค่ไหนกับการมีเจ้าตัวเล็ก เพื่อครอบครัวที่สมบูรณ์ทั้งสุขภาพกายและใจ และหากพบปัญหามีบุตรยากย่อมสามารถรับมือได้ทันท่วงที ช่วยให้การมีเจ้าตัวเล็กเป็นไปอย่างราบรื่น
พญ. วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพสตรี รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานนั้นมีความสำคัญกับชีวิตครอบครัวมาก เพราะจะทำให้ทราบถึงความพร้อมในการมีบุตร ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการมีบุตร และแนวทางการดูแลร่างกายให้พร้อมสำหรับการมีบุตร สำหรับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน แพทย์จะทำการซักประวัติโดยละเอียด ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสุขภาพทั่วไป เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกายคุณพ่อและคุณแม่ ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ตรวจการทำงานของระบบหายใจ การทำงานของหัวใจ รวมถึงการตรวจเต้านมและตรวจหน้าท้องร่วมด้วย ตรวจเลือดดูความพร้อมประเมินความเสี่ยง โดยจะทำการตรวจดูกรุ๊ปเลือด ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงที่เสี่ยงต่อการเป็นโลหิตจาง ตรวจภูมิต้านทานที่ควรมี เช่น ภูมิต้านทานหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี โดยเฉพาะในผู้หญิงที่อายุเกิน 35 ปี หากมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์ อาจเป็นอันตรายขณะตั้งครรภ์ได้หากไม่ได้ควบคุมหรือดูแลอย่างเหมาะสม เพราะบางโรคในขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถทานยาได้ ตรวจโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะพันธุกรรมแฝงอย่างธาลัสซีเมียที่คนไทยมีภาวะแฝงจากโรคนี้ถึง 45% ตรวจภายในเพื่อดูความปกติของมดลูกและรังไข่ เพื่อหาเนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ และความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งมีผลต่อการตั้งครรภ์โดยตรง รวมทั้งการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกเมื่อถึงวัย ผู้ที่มีความเสี่ยงคือผู้ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่หากยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไปก็ควรตรวจค้นหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกร่วมด้วย
ในบางกรณีจะมีการตรวจอัลตราซาวนด์ก่อนแต่งงาน โดยจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยละเอียด ถูกต้อง ชัดเจนขึ้น ซึ่งการตรวจอัลตราซาวนด์เป็นไปเพื่อตรวจดูสุขภาพของมดลูกและรังไข่ ตรวจดูพยาธิสภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการตั้งครรภ์ เช่น เนื้องอกมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่ ประจำเดือนมากผิดปกติ มีลิ่มเลือด เป็นต้น รวมถึงตรวจดูการทำงานของรังไข่ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ไข่ไม่ตก ยิ่งในช่วงวัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงคือ อายุ 18 – 35 ปี ตามสถิติพบว่า 20 – 30% ของคู่สมรสกลับต้องประสบปัญหามีบุตรยาก ที่น่าสนใจคือ กว่าจะทราบว่าตนเองมีบุตรยาก มักจะรู้หลังจากแต่งงานไปนานเป็นปี ๆ แล้ว เสียเวลาและโอกาสไปโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในคุณผู้หญิงที่แต่งงานตอนอายุเกิน 35 ปี เพราะความสามารถในการเจริญพันธุ์เริ่มลดลงทุก ๆ ปีตามรังไข่ที่เสื่อมคุณภาพจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น โอกาสในการมีบุตรยากจึงสูง แต่ 70% ของคู่สมรสที่มีบุตรยากสามารถหาสาเหตุได้ไม่ยาก หากปรึกษาแพทย์และตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
ความเสี่ยงจากการไม่ตรวจก่อนแต่งจะทำให้ขาดการวางแผนในการมีบุตร เสียเวลาและโอกาสในการแก้ไขภาวะมีบุตรยากแต่เนิ่น ๆ อาจเกิดความเครียดและกังวลเมื่อตั้งครรภ์ เพราะขาดการเตรียมตัวเตรียมใจที่ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงกว่าปกติ เช่น โลหิตจาง เบาหวาน ไทรอยด์ ครรภ์เป็นพิษ และอาจทำให้ทารกอาจเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์หรือเจริญเติบโตช้า เกิดภาวะแท้งบุตร หรือ คลอดก่อนกำหนดได้ การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานหรือใช้ชีวิตครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นเพื่อชีวิตครอบครัวที่ดีและยังช่วยให้ทราบข้อมูลแต่เนิ่น ๆ หากมีปัญหามีบุตรยากและไม่เสียโอกาสถ้าต้องการมีบุตร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สุขภาพสตรี รพ.กรุงเทพ โทร.1719 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital