เมื่อวันที่11 ธันวาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่อาคารอเนกประสงค์ องค์การบริหารส่วนตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ นายณัชวันก์ อัลภาชน์ เตชะเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ประธานในการเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) โครงการงานศึกษา ออกแบบ วิเคราะห์ แผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 และหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลโครงการ วัตถุประสงค์ ขอบเขตขั้นตอนการศึกษา แนวคิดการพัฒนาโครงการและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่โครงการ เพื่อนำไปประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการให้มีความเหมาะสม โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
สำหรับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคตะวันออก อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ซึ่งเป็นถนนวงแหวนรอบปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันการเดินทางระหว่างสองเส้นทางมีปริมาณจราจรหนาแน่น และพื้นที่สองข้างทางเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ทำให้โครงข่ายถนนที่อยู่ในบริเวณทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองมีปริมาณการสัญจรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ จึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ดำเนินโครงการงานศึกษา ออกแบบ วิเคราะห์ แผนพัฒนาโครงข่าย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และหมายเลข 9 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงการ ให้สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงกับโครงข่ายการคมนาคมในภูมิภาค เพื่อความสะดวก คล่องตัวในการเดินทาง โดยมีระยะเวลาศึกษาโครงการ 450 วัน
โดยภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสมเป็นไปตามหลักวิศวกรรมและจราจรสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด โดยโครงการจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาศึกษาโครงการ เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และรับฟังประเด็นข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบการศึกษาโครงการ