“รพ.ไทยนครินทร์” เปิดอาคารรังสีรักษาพร้อมลงนามบันทึกข้อตกลง “Eastern Cancer Network” ยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งรับบริการที่เหมาะสมและเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น
บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNH จัดงาน “พิธีเปิดอาคารรังสีรักษาและการลงนามบันทึกข้อตกลง Eastern Cancer Network” โดยมีนายแพทย์เจริญ มีนสุข ประธานกรรมการบริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคุณฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหารบริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) และนายแพทย์อาคม เชียรศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งโฮลิสติค ร่วมเป็นประธานเปิดอาคารรังสีรักษา พร้อมร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ “Eastern Cancer Network” เพื่อเป็นการก่อตั้งเครือข่ายการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในภาคตะวันออกของประเทศไทยเพื่อการส่งต่อผู้ป่วย การใช้อุปกรณ์ร่วมกันให้มีประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า และประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งเป็นความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างเครือข่าย โดยมี 4 สถานพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลไทยนครินทร์, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์, โรงพยาบาลแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา (CAH) และสหคลินิกฉะเชิงเทรา(SCC) โดยมีคุณฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหารบริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TNH, คุณสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานกรรมการบริษัท แคนเซอร์อลิอันซ์ จำกัด, พญ.วิภาวัลย์ วงศ์แพทย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ และ ศ.คลินิก นายแพทย์ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ สหคลินิกฉะเชิงเทรา(SCC) ร่วมลงนามฯ ณ อาคารรังสีรักษา โรงพยาบาลไทยนครินทร์
สำหรับบันทึกข้อตกลง “Eastern Cancer Network” ครั้งนี้เพื่อเป็นความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างเครือข่ายเพื่อยกระดับการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถรับการให้บริการและเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ทำให้ผลลัพธ์การรักษาดีขึ้น ด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ซึ่งในการบริหารจัดการในส่วนนี้จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการที่เหมาะสมด้วยเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันเหมาะสมกับสิทธิ์การรักษา ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการฉายแสง ลดระยะเวลาการรอคอย เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ในการรักษา
นายแพทย์เจริญ มีนสุข ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกของประเทศไทยนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ทั้งโรคทั่วไปรวมถึงโรคซับซ้อนในการรักษาอย่างโรคมะเร็ง จึงเปิดให้บริการศูนย์มะเร็งโฮลิสติคในปี พ.ศ.2550 เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง และด้วยแนวโน้มของสถานการณ์โรคมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น ทางโรงพยาบาลพยายามอัพเดทเครื่องมือที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ในครั้งนี้ได้เปิดอาคารรังสีรักษา (Linac Center) พร้อมจุดเด่นของการให้บริการรักษามะเร็งด้วยรังสีของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ คือเครื่องจำลองการฉายรังสีเพื่อล็อกเป้าหมายจุดที่ต้องการฉายรังสีหลังจากนั้นจะทำการฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสี Vital Beam ข้อดีของเครื่องคือมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยลดผลกระทบจากการฉายรังสีที่อาจส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียงช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงในระยะยาวจากการฉายรังสี ซึ่งวิธีการรักษามะเร็งของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ใช้วิธีที่เรียกว่า Multidisciplinary Team หรือ MDT คือการทำงานเป็นทีมระหว่างทีมแพทย์เฉพาะทางในหลายสาขาวิชา รวมถึงทีมพยาบาลวิชาชีพที่มากประสบการณ์เพื่อให้การวางแผนรักษามะเร็งระหว่างทีมแพทย์และผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่ดี ได้มาตรฐานโดยเฉพาะโรคซับซ้อนที่ต้องการแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านมะเร็ง
สำหรับจุดเด่นและข้อดีของอาคารรังสีรักษาคือ เป็นอาคารที่แยกมาจากอาคารใหญ่ ซึ่งมีความแตกต่างจากที่อื่นโดยส่วนใหญ่สถานพยาบาลที่มีการให้บริการรังสีรักษามักมีพื้นที่ร่วมกับการบริการรักษาผู้ป่วยประเภทอื่น ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจะไม่ปะปนกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ซึ่งจะช่วยลดภาวะการติดเชื้อ เพราะในกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยที่เปราะบางติดเชื้อได้ง่าย
ด้านนายแพทย์อาคม เชียรศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งโฮลิสติค บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมุมมองของโรคมะเร็งว่า เมื่อก่อนนี้ ”มะเร็ง” เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและกลไกการเกิดโรคก็มีได้หลายแบบ ต่อมาทราบว่ามีหลายสาเหตุส่งเสริมที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งและผู้ป่วยโรคมะเร็งเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2533-2546 โครงการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ (Human Genome Project) สำเร็จ ทำให้มีความรู้เกี่ยวกับกายภาพและหน้าที่ของ DNA ซึ่งเป็นเหมือนเทปบันทึกข้อมูลของมนุษย์ 2 สายมีลักษณะบิดเป็นเกลียวพันกันเหมือนลูกโซ่ มีข้อมูลทุกอย่างของมนุษย์บันทึกไว้เป็นข้อมูลของบุคคล แต่ละบุคคล(เฉพาะตัว) สิ่งที่พบเกี่ยวกับ DNA ทำให้ปัจจุบันการแพทย์ เป็นยุคของ Precision Medicine รู้จักกันในภาษาไทยว่า “การแพทย์ที่แม่นยำ’’ ทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ มีความรู้มะเร็งมากขึ้นจนถึงแก่นสำคัญของเซลล์มะเร็ง คือ “Cancer DNA”
ดังนั้น วิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะการพัฒนาการวินิจฉัย ยารักษาโรคมะเร็ง รวมทั้งการรักษาด้วยรังสีรักษา ได้มีการพัฒนาเครื่องฉายรังสี อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องด้วยนวัตกรรมชั้นสูง รวมทั้งเทคนิคสมัยใหม่เพื่อเลือกทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งคือ Cancer DNA ทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องฉายรังสีรักษา หรือ Linac ที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ผลการรักษาโรคมะเร็งแบบที่แพทย์และผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคนต้องการนั่นคือ Personalized Healthcare ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลไทยนครินทร์แห่งนี้ภายใต้ความร่วมแรงร่วมใจของทีมแพทย์สหวิชาชีพและการสนับสนุนที่มุ่งมั่นของทีมบริหารโรงพยาบาลไทยนครินทร์ “ We are Family “
คุณฐิติ สิหนาทกถากุล ประธานบริหาร บริษัท โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลไทยนครินทร์เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในทุกกระบวนการการรักษา ตั้งแต่ ป้องกัน ค้นหา รักษา ฟื้นฟู และติดตาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นสูง และทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์เฉพาะทาง โดยในปี 2566 นี้ โรงพยาบาลไทยนครินทร์กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 เรายังคงมุ่งมั่นรักษา และยังคงวางแผนการดำเนินการให้บริการรักษาในโรคต่างๆ เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคำนึงถึงผู้ป่วยและผู้รับบริการเป็นสำคัญ โดยจะมีเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยนำมาช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำ ค้นหารอยโรคได้ชัดเจนเพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษา นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลไทยนครินทร์ยังได้ปรับปรุงพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในโรงพยาบาล เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีและมอบประสบการณ์การรับบริการให้กับทุกท่านอีกด้วยคุณฐิติ กล่าวทิ้งท้าย