องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้คาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2050 ทั่วโลกจะมีประชากรกว่า 50% หรือประมาณ 5,000 ล้านคน จะเป็นผู้ที่มีภาวะสายตาสั้น และประมาณ 900 ล้านคนจะมีปัญหาสายตาสั้นมากกว่า 500 (หรือค่าสายตา -5.00 diopter) ขึ้นไป ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ออกนอกบ้านน้อยลง จดจ่อกับโทรศัพท์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น รวมถึงพันธุกรรมจากพ่อแม่ที่สายตาสั้นทั้งคู่ จะส่งผลให้ลูกมีโอกาสสายตาสั้น สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า
พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการตัดแก้ไขสายตาด้วยเลเซอร์ ศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า สายตาผิดปกติที่พบได้ทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 ชนิด ได้แก่ สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตายาวสูงอายุ โดยภาวะสายตาสั้นเป็นปัญหาที่พบได้มากที่สุดในทุกเพศ ทุกวัย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเด็กเล็กจนถึงเด็กวัยเรียน ซึ่งภาวะสายตาสั้น หรือ Myopia คือความผิดปกติในระบบหักเหแสงและรวมแสงของดวงตา โดยแสงจากวัตถุที่มองในระยะไกลจะโฟกัสก่อนถึงประสาทตา ทำให้ผู้ที่สายตาสั้นจึงมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลเป็นภาพมัวๆ ไม่ชัด เนื่องจากกระบอกตายาวกว่าปกติ หรือกระจกตาโค้งมากกว่าปกติ อีกทั้งมักพบอาการสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้น โดยสถิติพบว่ากว่า 50% ของผู้มีปัญหาสายตา มักมีค่าสายตาเอียงร่วมด้วย ซึ่งสายตาเอียงเกิดจากการที่กระจกตามีความโค้งไม่เท่ากันในแต่ละแกน ทำให้เกิดจุดโฟกัส 2 จุด ไม่รวมเป็นภาพเดียว มีจุดหนึ่งโฟกัสที่ก่อนหรือหลังจอประสาทตา ทำให้ภาพที่เห็นจะทั้งเบลอและมีเงา หรือเป็นภาพซ้อน ซึ่งประสิทธิภาพการมองวัตถุแย่กว่าอาการสายตาสั้นหรือสายตาเอียงเพียงอย่างเดียว
ที่ผ่านมา ผู้มีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติมักนิยมเลือกแว่นสายตาและคอนแทคเลนส์ ซึ่งเป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติแบบชั่วคราว ในขณะเดียวกันวิทยาการใหม่ๆ และนวัตกรรมในการรักษาภาวะสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นการรักษาแบบถาวรและเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีหลากหลายวิธี อาทิ
1. นวัตกรรมรีเลกส์ สมายล์ (ReLEx SMILE) เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในการผ่าตัดแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ที่พัฒนาต่อยอดมาจากเลสิก เป็นเทคนิคที่ไร้ใบมีดใช้ในการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้นและสายตาเอียง จะมีแผลเปิดที่กระจกตาเล็กมากประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เพื่อปรับความโค้งของกระจกตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข โดยไม่กระทบกระเทือนกระจกตาชั้นบนและเส้นประสาทที่ผิวกระจกตา ทำให้แผลหายเร็วและสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ หลังจากผ่าตัดเพียง 1-2 วัน จะได้ค่าสายตาหลังการผ่าตัดที่มีความแม่นยำ วิธีนี้ไม่มีการตัดฝากระจกตาทำให้ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ฝากระจกตาตัดไม่สมบูรณ์ หรือฝากระจกตาเคลื่อน เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่ไม่อยากใส่แว่น หรือคอนแทคเลนส์ โดยเป็นผู้ที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ 50 ถึง 1000 (หรือ -10.00 D) และสายตาเอียงถึง 500 (-5.00 D) ซึ่งเป็นเทรนด์การแพทย์ของบำรุงราษฎร์ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีการรักษาแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery) มาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อวัยวะได้รับการบอบช้ำน้อยที่สุด
2. การทำ Femtosecond LASIK เป็นการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ โดยเป็นการตัดฝากระจกตาแบบไม่ใช้ใบมีด ด้วยเครื่อง Visumax Femtosecond Laser ร่วมกับเครื่อง Excimer laser (MEL90) ในการปรับแต่งความโค้งกระจกตา และปิดฝากระจกตากลับโดยไม่จำเป็นต้องเย็บแผล
3. การทำ PRK (Photorefractive Keratectomy) สำหรับรักษาภาวะสายตาสั้น สายตายาวแต่กำเนิดและสายตาเอียง อีกทั้งเป็นวิธีทางเลือกสำหรับผู้มีกระจกตาบาง หรือไม่เหมาะสมกับการเลเซอร์ด้วยวิธีอื่น โดยใช้เครื่อง excimer laser ขัดที่ผิวกระจกตาโดยตรง และไม่มีการแยกชั้นกระจกตา ซึ่งเป็นวิธีการผ่าตัดแก้ไขสายตาวิธีแรกๆ และจำเป็นต้องใส่คอนแทคเลนส์เพื่อลดอาการระคายเคืองหลังผ่าตัดประมาณ 3-5 วัน
4. การผ่าตัดด้วยเทคนิค Monovision สำหรับผู้ที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป อาจพบกับปัญหาสายตายาวตามอายุ ทำให้การมองในที่ใกล้ลดลง โดยการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้เป็นการรักษาเพื่อช่วยให้มองเห็นชัดทั้งใกล้และไกล สามารถทำได้ด้วยวิธี ReLEx SMILE, Femtosecond LASIK และ PRK โดยการตั้งค่าเลเซอร์ให้ตาหนึ่งข้างมองชัดในที่ไกล ส่วนอีกข้างมองชัดในที่ใกล้ในผู้ที่สายตายาวตามอายุ ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อเลือกวิธีที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จักษุแพทย์จะเป็นผู้ตรวจตาและวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนที่จะแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสม พร้อมให้ข้อมูลรายละเอียดของวิธีการรักษาต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะรายบุคคลเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการรักษา
พญ. ฐาริณี กุลกำม์ธร กล่าวให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพตา ที่ผ่านมาเรามักจะละเลยความสำคัญในการถนอมดวงตา ซึ่งถือเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนมากที่สุดอย่างหนึ่ง เนื่องจากอาจเสื่อมหรือบกพร่องจากเหตุปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น อายุ อาชีพการงาน การเล่นกีฬา โภชนาการ สภาวะแวดล้อม และสุขภาพด้านอื่นของร่างกายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตา เช่น โรคเบาหวาน โรคต้อกระจก ฯลฯ จึงควร ‘ตรวจสุขภาพตา’ เป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตรวจได้ตั้งแต่วัยเด็กก่อนเข้าเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะทุกวันนี้มีแนวโน้มพบเด็กที่มีภาวะสายตาสั้นในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ
ข้อควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คือ ควรจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ทำให้ตาไม่แห้ง และควรพักสายตาจากการจ้องจอมอนิเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยใช้หลัก 20 20 20 คือ ทุกๆ 20 นาที ของการมองใกล้ เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ โดยให้พักสายตาประมาณ 20 วินาที โดยมองไปที่ไกลในระยะ 20 ฟุต เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่ปวดกล้ามเนื้อตา ที่สำคัญควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างน้อย 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพราะจากการวิจัยระบุว่าแสงแดดจะสามารถป้องกันไม่ให้เด็กสายตาสั้นมาก เพราะในแสงแดดจะมีสารที่ไปยับยั้งไม่ให้ลูกตายาวเกินปกติ เพราะการที่ลูกตายาวเกินไปเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การโฟกัสตกก่อนจอประสาทตา ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่1378 หรือติดต่อศูนย์จักษุ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น. ฮอตไลน์ 0-2 011 3886 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bumrungrad.com/th/treatments/relex-smile และ https://youtu.be/c7XP6FLfEk0