ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดฝึกซ้อมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan : แผน BCP) ประจำปี 2564 เพื่อให้สามารถรักษาการให้บริการอากาศยาน บริการผู้โดยสารและบริการคลังสินค้าให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง กรณีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนส่งผลให้การบริการเกิดการหยุดชะงัก
วันนี้ (14 ก.ย.64) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 1)บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เป็นประธานจัดการฝึกซ้อมแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan : BCP) ประจำปี 2564 เปิดเผยว่าเนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ส่งผลให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ต้องจัดการฝึกซ้อมในรูปแบบบนโต๊ะสถานการณ์จำลอง (Table-top Exercise) โดยประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานทั้งภายในและภายนอกที่เป็นคณะทำงานได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในแผน BCP และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกซ้อมได้กำหนดสถานการณ์จำลอง กรณี พนักงานดับเพลิงและกู้ภัยอากาศยาน ทสภ. ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบให้ต้องลดขีดความสามารถในการให้บริการอากาศยานลง เนื่องจากไม่สามารถรักษาระดับการป้องกันด้านดับเพลิงและกู้ภัย (Level of protection) ที่เพียงพอได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ของการดับเพลิงและกู้ภัยสนามบิน (Aerodrome category for rescue and fire fighting)
นายกิตติพงศ์ฯ กล่าวต่อไปว่าทั้งนี้ เพื่อเป็นการทดสอบความสมบูรณ์ของแผน BCP และการเตรียมการรองรับต่อผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) ในปัจจุบัน การฝึกซ้อมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสาร สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้า ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกไฟลท์เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเอสไอจี ประเทศไทย จำกัด เข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนี้ทำให้การฝึกซ้อมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ทสภ. เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงจัดให้มีการฝึกซ้อมแผน BCP เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ อีกทั้งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานร่วมกัน รวมถึงให้ส่วนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของขั้นตอนความพร้อมเมื่อเกิดอุบัติการณ์ระหว่างการใช้แผน BCP และการฟื้นคืนบริการให้กลับสู่สภาพปกติ